หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท
คณะกรรมการบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจ โดยยึดถือปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นโยบายบริหารกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถนำพาบริษัทให้บรรลุเป้าหมาย และเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
ในปัจจุบัน คณะกรรมการบริษัทได้นำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 (CG CODE) ทั้ง 8 หลักปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาปรับใช้ตามบริบททางธุรกิจของบริษัทแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 5 หมวด ซึ่งประกอบด้วย
1. การปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้น
2. การประชุมผู้ถือหุ้น
3. การส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นล่วงหน้า
ในหนังสือเชิญประชุมมีวาระการประชุมที่สำคัญเป็นเรื่อง ๆ อย่างชัดเจน เพื่อนำเสนอผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติเป็นประจำทุกปี ได้แก่
- วาระการแต่งตั้งคณะกรรมการ : บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถเลือกกรรมการเป็นรายบุคคล โดยได้ให้รายละเอียด ชื่อ-นามสกุล อายุ ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน จำนวนบริษัทที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ แยกเป็นบริษัทจดทะเบียนและบริษัททั่วไป หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา ประเภทของกรรมการที่เสนอ ข้อมูลการเข้าร่วมประชุม และจำนวนปีที่ดำรงตำแหน่ง กรณีเสนอแต่งตั้งกรรมการรายเดิม โดยการเสนอแต่งตั้งดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรอง โดยคณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล
- วาระค่าตอบแทนกรรมการ : บริษัทได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบและจำนวนเงินค่าตอบแทน รวมทั้งนโยบายและหลักเกณฑ์การพิจารณาค่าตอบแทนกรรมการที่ได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองโดยคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน
- วาระการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี :BAFS บริษัทได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อผู้สอบบัญชี สำนักงานสอบบัญชี ประสบการณ์ ความสามารถของผู้สอบบัญชี ความเป็นอิสระ ค่าตอบแทน จำนวนปีที่ทำหน้าที่ให้บริษัท (กรณีแต่งตั้งผู้สอบบัญชีรายเดิม) หรือเหตุผลของการเปลี่ยนผู้สอบบัญชี (กรณีแต่งตั้งผู้สอบบัญชีรายใหม่) วิธีการพิจารณาความเหมาะสมของค่าสอบบัญชี ซึ่งได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองโดยคณะกรรมการตรวจสอบ
- วาระการจัดสรรกำไรและการจ่ายเงินปันผล : บริษัทได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรกำไรและเงินทุนสำรอง จำนวนเงินปันผล พร้อมเหตุผลและข้อมูลประกอบ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจ่ายเงินปันผล นอกจากนี้ ยังได้แจ้งวันกำหนดสิทธิในการรับเงินปันผล (Record Date) โดยการเสนอเรื่องดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองโดยคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน
ในปี 2566 บริษัทไม่ได้รับข้อร้องเรียนใดๆ เกี่ยวกับการไม่เคารพในสิทธิพื้นฐานของผู้ถือหุ้น โดยบริษัทได้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน และไม่พบการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือการกระทำที่ละเมิดนโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์แต่อย่างใด รวมทั้ง ไม่มีการฝ่าฝืนการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรายการระหว่างกันหรือการซื้อขายสินทรัพย์
4. การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้น
5. การดำเนินการประชุมผู้ถือหุ้น
6. การดำเนินการหลังการประชุมผู้ถือหุ้น
บริษัทให้ความสำคัญและดูแลให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม โดยได้ดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้
1. การเสนอเพิ่มวาระการประชุม และเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ
บริษัทมีนโยบายอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นในการเสนอเพิ่มวาระการประชุมล่วงหน้า รวมทั้งเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น โดยบริษัทมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งได้มีการเผยแพร่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ และเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งบริษัทได้เปิดโอกาสให้แก่ผู้ถือหุ้นเสนอวาระและชื่อกรรมการพร้อมข้อมูลประกอบการพิจารณา ล่วงหน้าเป็นเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นรายเดียวหรือหลายรายรวมกันซึ่งถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.05 สามารถเสนอวาระและชื่อกรรมการได้ซึ่งสัดส่วนที่กำหนดดังกล่าวเป็นสัดส่วนที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นมากกว่าข้อกำหนดของกฎหมาย ที่กำหนดว่าผู้ถือหุ้นรายเดียวหรือหลายรายซึ่งถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 สามารถเสนอวาระการประชุมได้ สำหรับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 ไม่มีผู้ถือหุ้นเสนอรายชื่อกรรมการและเสนอวาระ
2. การมอบฉันทะในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น
ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ บริษัทได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นมอบฉันทะให้บุคคลอื่น กรรมการอิสระ หรือกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เข้าร่วมประชุมแทน โดยจัดส่งหนังสือมอบฉันทะในรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นกำหนดทิศทางการลงคะแนนได้ (แบบ ข.) รวมทั้ง ได้ระบุเกี่ยวกับเอกสารประกอบการมอบฉันทะ และคำแนะนำขั้นตอนในการมอบฉันทะไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นขั้นตอนโดยทั่วไป ที่ไม่ยุ่งยากต่อการปฏิบัติ
3. มาตรการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในของบริษัท และความขัดแย้งทางผลประโยชน์
บริษัทมีนโยบายป้องกันการใช้ข้อมูลภายในของบริษัท เพื่อป้องกันกรณีที่กรรมการและผู้บริหารใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์ ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นอื่น เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน การนำข้อมูลภายในไปเปิดเผยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการและผู้บริหาร ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม เป็นต้น โดยได้มีการกำหนดเรื่องการรักษาผลประโยชน์และความลับของบริษัทไว้ในคู่มือนโยบายและระเบียบข้อบังคับของบริษัท และกำหนดเรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของบริษัท การใช้ข้อมูลภายใน และความขัดแย้งทางผลประโยชน์ไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจ รวมทั้งกำหนดบทลงโทษกรณีที่พนักงานฝ่าฝืนอีกด้วย โดยกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานได้ลงนามรับทราบถึงข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทกำหนดมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทก่อนการประกาศแจ้งข่าวงบการเงินแต่ละไตรมาส อย่างน้อย 30 วัน และ 1 วันหลังจากเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว
ทั้งนี้ สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของบริษัทของกรรมการและผู้บริหาร บริษัทได้แจ้งให้กรรมการและผู้บริหารรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ พ.ศ. 2535 และได้บรรจุวาระเรื่องการถือครองหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของกรรมการและผู้บริหารไว้ในการประชุมคณะกรรมการบริษัททุกครั้ง รวมทั้งมีการเปิดเผยการถือครองหลักทรัพย์ไว้ในแบบ 56-1 One Report
นอกจากนี้ สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของพนักงานที่ใกล้ชิดกับข้อมูลของบริษัท บริษัทได้กำหนดระเบียบให้พนักงานดังกล่าว ต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของบริษัท ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่เกิดรายการ และได้บรรจุวาระไว้ในการประชุมฝ่ายบริหารทุกเดือน
1. การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ
บริษัทมีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ได้แก่ พนักงาน ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พันธมิตรทางธุรกิจและคู่แข่ง ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เจ้าหนี้และสถาบันการเงิน ผู้กำกับดูแลและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดแนวทางการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในนโยบายบริหารกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท ซึ่งได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในการปฏิบัติตามแนวนโยบายดังกล่าว โดยมีการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้
พนักงาน: บริษัทให้ความสำคัญแก่พนักงานโดยถือว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่สำคัญของบริษัทที่มีผลต่อความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นบริษัทจึงมีนโยบายและแนวปฏิบัติต่อพนักงาน โดยบริษัทได้ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม ให้ความเคารพและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพการทำงานระดับมืออาชีพ และให้ความมั่นใจในคุณภาพชีวิตการทำงานอย่างมีความสุข มีจริยธรรม ให้ผลตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน โดยมีการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้
-
การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม และการรวมกลุ่มเจรจาต่อรองสิทธิประโยชน์ของพนักงาน
บริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติต่อพนักงานทุกระดับโดยเท่าเทียมกันไม่มีข้อยกเว้น ให้ความเป็นธรรม โดยมีการกำหนดระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับค่าตอบแทนที่ชัดเจนโดยมีการวัดผลการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัททั้งระยะสั้นและระยะยาว บริษัทมีการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการบริษัท (กสบ.) ซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายบริหารและพนักงาน เพื่อหารือ ให้คำปรึกษา เสนอแนะข้อคิดเห็นและแนวทางในการจัดสวัสดิการที่เป็นประโยชน์สำหรับพนักงานโดยเฉพาะต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน โดยเฉพาะการโอนย้ายพนักงาน การฝึกอบรมพนักงานทุกกลุ่มให้มีการพัฒนาทักษะและความสามารถให้เป็นมืออาชีพอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมพัฒนาความสามารถของพนักงานเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ เสริมสร้างความมั่นคงและสนับสนุนให้พนักงานปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย
-
การจ้างงาน/เลิกจ้าง
บริษัทมีนโยบายการจ้างงานภายใต้ข้อตกลงการจ้างที่เป็นไปตามกฎหมาย โดยให้โอกาสไม่เลือกปฏิบัติหรือกีดกันในเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ภาษา หรือเผ่าพันธุ์ ให้ความเป็นธรรมและปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนด้วยความเสมอภาค เท่าเทียมกัน การบรรจุแต่งตั้งตามลักษณะการปฏิบัติงานที่หลากหลาย รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานโดยเคร่งครัดในเรื่องการจ้าง ค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน และเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการจ้าง นอกจากนี้ บริษัทยังมีนโยบายเลิกจ้าง รวมถึงการเกษียณอายุงาน และการจ่ายชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ โดยปฏิบัติสอดคล้องตามกฎหมาย
-
นโยบายการส่งเสริมผู้พิการ
บริษัทให้ความสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพและคุ้มครองการมีงานทำของคนพิการ เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสใช้ความสามารถ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเอง และลดภาระของครอบครัว ในปี 2566 บริษัทได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 จำนวนคนพิการที่ต้องรับเข้าทำงานตามอัตราส่วน (100 : 1) จำนวน 5 คน ตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ
-
การจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการ
บริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการแก่พนักงาน โดยมีการกำหนดนโยบายค่าตอบแทนพนักงานที่ชัดเจนโดยมีการวัดผลการปฏิบัติงานตาม Balanced Scorecard ที่สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านลูกค้า ด้านกระบวนการจัดการภายใน และด้านการเรียนรู้และพัฒนา รวมทั้ง มีการกำหนดระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับค่าตอบแทนและสวัสดิการของพนักงานที่ชัดเจน ให้ผลตอบแทนและสวัสดิการอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจเป็นหลัก เพื่อเป็นการช่วยเหลือภาระของพนักงาน โดยจัดให้มีค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) ของผู้อยู่ในอุปการะของพนักงาน การทำประกันชีวิต การทำประกันอุบัติเหตุและสุขภาพให้แก่พนักงานและผู้อยู่ในอุปการะของพนักงาน เครื่องแบบพนักงานสำหรับพนักงานด้านปฏิบัติการ เงินสมทบประกันสังคมส่วนของบริษัท รถรับส่งพนักงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานระหว่างพื้นที่ เงินช่วยเหลือภาระดอกเบี้ยกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ได้แก่ เงินเดือน โครงการผลประโยชน์เมื่อออกจากงาน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งสวัสดิการอื่น ๆ ให้แก่พนักงาน
ทั้งนี้ ในปี 2566 พนักงานได้รับค่าตอบแทนรวม เป็นเงิน 594,375,540.92 บาท
สัดส่วนค่าตอบแทนพนักงานหญิงต่อพนักงานชาย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566)
ความหลากหลายทางเพศและการตอบแทนพนักงานที่เท่าเทียมกัน จำนวนพนักงานเพศหญิง 125 คน คิดเป็นร้อยละ 23.71 ของพนักงานทั้งหมด จำนวนเพศหญิงระดับผู้บริหาร 9 คน คิดเป็นร้อยละ 56.25 ของผู้บริหารทั้งหมด จำนวนเพศหญิงระดับปฏิบัติการ 116 คน คิดเป็นร้อยละ 22.70 ของพนักงานในระดับเดียวกัน ปี 2566 บริษัทมีสัดส่วนค่าตอบแทนพนักงานเพศหญิงต่อพนักงานเพศชาย 33.44 : 66.56 -
การส่งเสริมช่องทางการออมเงินและสร้างหลักประกันทางการเงินสำหรับพนักงาน
บริษัทได้สร้างหลักประกันทางการเงินสำหรับพนักงานเมื่อต้องออกจากงานหรือเกษียณอายุ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้พนักงานพึ่งพาตนเองด้านการเงินในระยะยาวได้ โดยในปี 2566 บริษัทจ่ายเงินสมทบตามอายุการทำงานของพนักงานเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 38.43 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนพนักงานเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเทียบกับพนักงานทั้งหมดมีสัดส่วน ดังนี้
จำนวนพนักงานที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : 469 คน
สัดส่วนพนักงานที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยง/ พนักงานทั้งหมด : 88.99%
-
นโยบายในการพัฒนาบุคลากร
พนักงานเป็นทรัพยากรสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นบริษัทจึงมีนโยบายและแนวปฏิบัติต่อพนักงาน โดยปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม เคารพและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะและความชำนาญเฉพาะด้าน ตลอดจนทันต่อเหตุการณ์และข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาพนักงานเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่วันแรกที่รับพนักงาน จึงได้จัดโปรแกรม Onboarding ให้พนักงาน โดยเริ่มตั้งแต่เข้ารับการปฐมนิเทศ การอบรมด้านจรรยาบรรณธุรกิจ ค่านิยมองค์การ ความปลอดภัยและระบบคุณภาพ ตลอดจนความรู้เบื้องต้นด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในงาน และเข้ารับการฝึกอบรมขณะปฏิบัติงาน (On the job training) ในหน่วยงานที่สังกัด ตลอดจนทบทวนความรู้และทักษะให้แก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอทุกปีตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในองค์กร โดยกำหนดแนวทางและการดำเนินการพัฒนา ดังนี้
-
แนวปฏิบัติในการพัฒนาบุคลากร
บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาให้พนักงานมีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่พนักงาน ตลอดจนเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้แก่องค์กรทั้งในปัจจุบันและอนาคตซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่พนักงานจะต้องมีความรู้ ความสามารถ ทักษะและความชำนาญเฉพาะด้าน ตลอดจนทันต่อเหตุการณ์และข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน โดยมีการวางแผนพัฒนาพนักงานให้มีศักยภาพ ความสามารถ และความก้าวหน้าในสายอาชีพอย่างเป็นระบบ โดยการประเมินความสามารถของพนักงาน (Competency) และนำผลการประเมินมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาพนักงานเป็นรายบุคคล บริษัทจะดำเนินการพัฒนาพนักงานตามแผนพัฒนาพนักงานรายบุคคล ด้วยการฝึกอบรมทั้งในรูปแบบ Onsite และรูปแบบ Online โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการอบรมและพัฒนาอย่างเหมาะสม
โดยในปี 2566 พนักงานบริษัทมีจำนวน 527 คน และมีจำนวนชั่วโมงการฝึกอบรมเท่ากับ 22,133.68 ชั่วโมง เฉลี่ยเป็น 31.25 ชั่วโมง/คน ดังนี้
แบ่งตามเพศ
- พนักงานหญิง 125 คน ชั่วโมงฝึกอบรมเท่ากับ 5,666.74 ชั่วโมง เฉลี่ยเป็น 45.33 ชั่วโมง/คน
- พนักงานชาย 402 คน ชั่วโมงฝึกอบรมเท่ากับ 16,466.94 ชั่วโมง เฉลี่ยเป็น 40.96 ชั่วโมง/คน
แบ่งตามประเภทของการปฏิบัติงาน
- พนักงานด้านปฏิบัติการ 366 คน ชั่วโมงฝึกอบรมเท่ากับ 12,526.94 ชั่วโมง เฉลี่ยเป็น 34.23 ชั่วโมง/คน
- พนักงานด้านสนับสนุน 161 คน ชั่วโมงฝึกอบรมเท่ากับ 9,606.74 ชั่วโมง เฉลี่ยเป็น 59.67 ชั่วโมง/คน
-
การบริหารจัดการด้านบุคลากร
บริษัทสรรหาและคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่เหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจของบริษัท โดยในการพิจารณาสรรหาและคัดเลือกพนักงาน บริษัทจัดให้มีการทดสอบทั้งข้อเขียน สัมภาษณ์ ทดสอบทัศนคติด้านความปลอดภัย ภาษาต่างประเทศ และการทดสอบจิตวิทยาในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถและมีคุณธรรมเข้ามาเป็นพนักงานของบริษัท และในการดำเนินงานด้านบุคลากร บริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติต่อพนักงาน รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจ เช่น การปฐมนิเทศ การอบรมด้านจรรยาบรรณธุรกิจ นโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ค่านิยมองค์กร ความปลอดภัยและระบบคุณภาพ ความรู้ด้าน Digital และการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ตลอดจนความรู้เบื้องต้นด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในงานให้แก่พนักงานใหม่ ก่อนเข้าไปเรียนรู้งานฝ่ายที่พนักงานสังกัดในขณะปฏิบัติงาน (On the job training) จัดให้มีโครงการส่งเสริมด้านการศึกษา เช่น การให้ทุนการศึกษาแก่พนักงาน การศึกษาดูงานภายนอก การสนับสนุนให้พนักงานเข้าปฏิบัติธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย รวมทั้งหลักสูตรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมตามความเหมาะสม การส่งเสริมรณรงค์และปลูกฝังค่านิยมองค์การ BAFS GROUP โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในกลุ่มบริษัท เช่น กิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกลุ่มบริษัท กิจกรรมสนับสนุนความปลอดภัย ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วม ตระหนักถึงความสำคัญและนำแนวทางพฤติกรรมที่ดีของค่านิยมองค์การไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน
-
แผนสืบทอดตำแหน่งงานและการบริหารจัดการกลุ่มบริษัท (BAFS GROUP Succession Plan and Management)
บริษัทตระหนักดีว่า การบริหารจัดการองค์กรให้มีการเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง และปัจจัยของการเจริญเติบโตที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ทรัพยากรบุคคลขององค์กร (Human Resource) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรบุคคลในระดับบริหารและตำแหน่งที่สำคัญ จึงได้ส่งเสริมให้มีแนวทางการเตรียมความพร้อมผู้สืบทอดตำแหน่งงาน (Successor) เพื่อรับผิดชอบในการบริหารจัดการธุรกิจขององค์กรอย่างเป็นระบบซึ่งการที่องค์กรมีทรัพยากรบุคคลระดับบริหารที่มีศักยภาพ จะช่วยสร้างความเจริญเติบโตแก่องค์กรได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงได้กำหนดกระบวนการสรรหาคัดเลือกด้วยหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และสอดคล้องกับจรรยาบรรณธุรกิจ เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งงานสำหรับตำแหน่งที่สำคัญของกลุ่มบริษัท และจัดทำแผนพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่งเพื่อเติมเต็มศักยภาพ ให้พร้อมที่จะทดแทนตำแหน่งงานสำคัญที่จะว่างลงในอนาคต
-
โครงการพัฒนาบุคลากรศักยภาพสูง (Talent Development Plan) สำหรับพนักงานกลุ่มบริษัท
บริษัทกำหนดกลยุทธ์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (People Strategy) สำหรับกลุ่มบริษัท มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นให้มีศักยภาพในเชิงบริหารตามแผนพัฒนา Uplifting Leader และ Young Talent พร้อมที่จะก้าวสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้นและสามารถบริหารจัดการงานได้อย่างมีประสิทธิผล รวมทั้งมีความคิดสร้างสรรค์ ปรับปรุงการทำงานให้สอดรับกับธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่งผลให้พนักงานมีความรู้สึกผูกพันและปรารถนาที่จะอุทิศตนในการทำงานเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของบริษัท นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยลดต้นทุนขององค์กรที่จะต้องจัดหาบุคลากรและปัจจัยภายนอกเพื่อมาบริหารจัดการงานภายในองค์กรได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาองค์กรและบุคลากรอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
-
การฝึกอบรมพนักงาน
บริษัทนำ Competency มาใช้เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติงาน หรือ Procedure เรื่องการสำรวจ วางแผน และการฝึกอบรมพนักงาน เพื่อกำหนดแผนการฝึกอบรมประจำปีของพนักงาน สำหรับพนักงานทุกกลุ่มให้มีการพัฒนาทักษะและความสามารถให้เป็นมืออาชีพอย่างต่อเนื่อง และรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดในอนาคตได้อย่างทันท่วงที โดยดำเนินการพัฒนาพนักงานตามแผนที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน และใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ในการอบรมและพัฒนา เช่น Classroom Training, Workshop, Online Training, Self-Learning ฯลฯ โดยมีกรอบการพัฒนาตามหลักสูตร ดังนี้
- หลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับแผนทบทวนการปฏิบัติงานด้านปฏิบัติการ ได้แก่ การทบทวนความรู้ด้านความปลอดภัยและควบคุมคุณภาพน้ำมันอากาศยาน การทบทวนการปฏิบัติงานด้านบริการจัดเก็บน้ำมันอากาศยาน การทบทวนการปฏิบัติงานด้านบริการเติมน้ำมันอากาศยาน การทบทวนการปฏิบัติงานด้านซ่อมบำรุงอุปกรณ์เติมน้ำมันอากาศยาน
- หลักสูตรการอบรมที่พิจารณาจากแผนกลยุทธ์ของบริษัท ได้แก่ Leadership Development Program, การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ การอนุรักษ์พลังงาน โครงการรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับค่านิยมองค์การ
- หลักสูตรการอบรมด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้แก่ จรรยาบรรณธุรกิจสำหรับกรรมการบริษัท จรรยาบรรณสำหรับคู่ธุรกิจ จรรยาบรรณธุรกิจและกิจกรรม CG Day สำหรับพนักงาน และการทดสอบพนักงานเรื่องจรรยาบรรณธุรกิจประจำปี
- หลักสูตรการอบรมสำหรับระบบการจัดการของบริษัท ได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับระบบคุณภาพสำหรับพนักงานทั้งองค์กร ความรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้ตรวจติดตามภายในระบบคุณภาพต่าง ๆ เช่น ISO 9001, ISO 22301, ISO 45001
- หลักสูตรการฝึกอบรมตามกฎหมายอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน หลักการยศาสตร์เพื่อการทำงานอย่างปลอดภัย การอบรมดับเพลิงขั้นต้น (Fire Drill) การฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ การฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง ความปลอดภัยในการทำงานกับปั้นจั่น การฝึกซ้อมตามแผนปฏิบัติการฉุกเฉินประจำปี (Full Scale) และการให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการความปลอดภัย รวมทั้งให้พนักงานฝึกทักษะการปฐมพยาบาล ฝึกการทำ CPR และใช้เครื่อง AED เป็นต้น
การติดตามผลการฝึกอบรม
ในแผนฝึกอบรมภายในประจำปีสำหรับพนักงาน บริษัทเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะงานด้าน Operation และด้านความปลอดภัย
การพัฒนาบุคลากรด้านอื่น ๆ
บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้เหมาะสมกับงาน นอกจากหลักสูตรต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาทักษะ ความรู้ของบุคลากร บริษัทยังให้ความสำคัญกับการให้พนักงานได้ปฏิบัติงานจริง โดยมอบหมายให้พนักงานรับผิดชอบงานโครงการต่าง ๆ นอกเหนือจากงานในความรับผิดชอบหลัก เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นการพัฒนาต่อยอดความรู้ เพื่อเสริมสร้างให้บุคลากรมีศักยภาพเพิ่มขึ้นรอบด้าน
-
การบริหารจัดการองค์กรแห่งการเรียนรู้
บริษัทก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยส่งเสริมและผลักดันให้พนักงานต่อยอดองค์ความรู้โดยแบ่งปันและแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มบริษัท เช่น การฝึกทักษะการเป็นวิทยากรภายในและพัฒนาบุคลิกภาพเบื้องต้น การปฐมพยาบาลฝึกการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED และที่สำคัญบริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะพนักงานที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้เป็นวิทยากรฝึกอบรมแก่บุคคลและหน่วยงานภายนอก ภายใต้การดูแลของ BAFS Training Center ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้จากการบริการฝึกอบรมให้แก่องค์กร เช่น หลักสูตรการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันอากาศยาน การควบคุมคุณภาพน้ำมันอากาศยาน การบริการน้ำมันอากาศยาน การดับเพลิงขั้นต้น การดับเพลิงและอพยพหนีไฟ การสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยด้วยกิจกรรม KYT
นอกจากนี้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้บริการประเทศต่าง ๆ ให้เป็นศูนย์ประสานงานและให้บริการสถานที่และอุปกรณ์ในการฝึกอบรมด้านการบริการน้ำมันอากาศยานครบวงจร เช่น Joint Inspection Group (JIG), IATA Fuel Quality Pool (IFQP), Hansaconsult Projects (HCP) ฯลฯโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทได้รับการคัดเลือกจาก Joint Inspection Group ให้ BAFS Training Center ได้รับคัดเลือกเป็น Training Partner ของ JIG สำหรับการจัดอบรมหลักสูตร JIG Inspector Training เพียงแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน
ด้วยศักยภาพดังกล่าว บริษัทจึงมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการความรู้และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริการพลังงาน เพิ่มพูนศักยภาพของบุคลากรและเพิ่มความพร้อมด้าน Fuel Facilities เพื่อส่งมอบความรู้และคุณค่าของมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยให้แก่ผู้รับบริการด้วยความเป็นมืออาชีพอย่างต่อเนื่องต่อไป
-
การส่งเสริมความผูกพันและการรักษาพนักงาน
บริษัทให้ความสำคัญกับการดูแลบุคลากรซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ จึงมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสร้างความผูกพันต่อองค์กรของพนักงาน โดยมุ่งเน้นให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข (Happy Workplace) และสนุกกับการทำงานโดยได้ดำเนินการสำรวจความพึงพอใจในการทำงานและความผูกพันต่อองค์กรอย่างต่อเนื่องทุกปี
“ในปี 2566 พบว่าผลสำรวจความผูกพันต่อองค์กรของพนักงานคิดเป็นร้อยละ 85.74”
ซึ่งสูงกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้คือ ร้อยละ 85.00 และหากเปรียบเทียบผลสำรวจกับปี 2565 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 76.36 พบว่าค่าคะแนนสูงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องมาจากบริษัทได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการ ทั้งสวัสดิการต่าง ๆ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการทำงานร่วมกันให้มากขึ้นภายหลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง บริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานเลือกรูปแบบการทำงานตาม Life Style และ Flexible มากขึ้น โดยสามารถเลือกพื้นที่ทำงาน และเลือกเวลาเข้า-ออกงานตามที่พนักงานสะดวก ในขณะเดียวกันยังคงมุ่งเน้นประสิทธิผลของงานอย่างจริงจังด้วย ถึงแม้ว่าผลการสำรวจดังกล่าว ในปี 2566 พบว่าพนักงานผูกพันต่อองค์ในระดับสูง แต่บริษัทก็ยังคงดูแลพนักงานอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมความผูกพันต่อองค์กรสม่ำเสมอ ดังนี้
- จัดให้มีการสื่อสารแบบ 2 ทางระหว่างผู้บริหารและพนักงานในรูปแบบการประชุม Town Hall ทุกไตรมาส เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและซักถามประเด็นที่สงสัยต่าง ๆ
- จัดกิจกรรม Happy Hour ทุกไตรมาส โดยหมุนเวียนไปยังทุกพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อให้พนักงานทุกฝ่ายได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ผ่อนคลายจากการทำงานและสนุกสนานร่วมกัน
- จัดกิจกรรม GROUP DAY เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานกลุ่มบริษัทได้พบปะ สังสรรค์ เป็นการส่งเสริมการสร้างสัมพันธ์อันดีและการทำงานเป็นทีมระหว่างพนักงาน BAFS Group
- ส่งเสริมและรณรงค์ให้พนักงานดูแลสุขภาพตนเอง โดยจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานสามารถออกกำลังกายได้ตามรูปแบบที่พนักงานต้องการ
- จัดกิจกรรมส่งเสริม และรณรงค์ค่านิยมองค์กรกลุ่มบริษัท เพื่อสร้างการรับรู้ และปลูกฝังค่านิยมองค์กรให้แก่ผู้บริหารและพนักงานกลุ่มบริษัท
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานเกิดทัศนคติที่ดี ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ เกิดความผูกพันต่อองค์กร ส่งผลให้พนักงานร่วมมือร่วมใจกันช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
-
ลูกค้า : บริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเอาใจใส่และรับผิดชอบต่อลูกค้า โดยมีการปฏิบัติตามสัญญาที่มีต่อลูกค้า ปฏิบัติต่อลูกค้าทุกรายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม มุ่งมั่นสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าโดยมุ่งเน้นคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดของผลิตภัณฑ์และบริการในระดับมาตรฐานสากล รวมถึงไม่เปิดเผยข้อมูลและความลับของลูกค้า โดยมีการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้
แนวทางและการดำเนินงานเกี่ยวกับการให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย
บริษัทมุ่งมั่นให้บริการน้ำมันอากาศยานด้วยมาตรฐานสากลที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย โดยดำเนินการตามมาตรฐาน Aviation Fuel Quality Control and Operation Standards จาก Joint Inspection Group (JIG) ซึ่งมาตรฐานนี้ถูกจัดทำขึ้นโดยองค์กรที่เป็นตัวแทนจากบริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกและได้รับการรับรองจาก International Air Transport Association (IATA) รวมทั้ง บริษัทได้รับการตรวจสอบการปฏิบัติงานจาก JIG Inspector ครอบคลุมถึงด้านข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในเรื่องของมาตรฐานของระบบอุปกรณ์เติมน้ำมันอากาศยาน การควบคุมคุณภาพน้ำมันก่อนจ่ายเข้าสู่อากาศยาน เพื่อให้แน่ใจว่าถูกต้องตามมาตรฐานและไม่มีสิ่งเจือปนที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้าและผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการในการเติมน้ำมันอากาศยานที่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อลูกค้า รวมถึงสุขภาพของพนักงานและลูกจ้างทุกคน เนื่องจากเป็นลักษณะการให้บริการและรับบริการในเวลาเดียวกันที่เป็นจุดเริ่มต้นในการส่งมอบบริการให้แก่ลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลและมีความปลอดภัย โดยยึดถือแนวทางปฏิบัติตามนโยบายคุณภาพ นโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ดังนี้
- บริษัทดำเนินธุรกิจการบริการเติมน้ำมันอากาศยานให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล ตรงต่อเวลาและมีความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล โดยได้รับการรับรองระบบการให้บริการของบริษัทด้วยระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001:2018
- ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรับ จัดเก็บ และให้บริการน้ำมันอากาศยาน ตระหนักถึงความสำคัญของ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในการดำเนินธุรกิจ โดยได้รับการรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน ISO 45001:2018
- บริษัทมีแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจโดยกำหนดเป็นนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ พร้อมทั้งการป้องกันภัยคุกคามที่อาจส่งผลต่อการหยุดชะงักของกิจการเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ ตลอดจนเพื่อให้มีความมั่นใจว่าบริษัทจะสามารถฟื้นคืนกิจกรรมสำคัญให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด โดยได้รับการรับรองระบบบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจตามมาตรฐาน ISO 22301:2019
ทั้งนี้ การดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ โดยมีรายละเอียดของระบบการบริหารการจัดการ เผยแพร่บนเว็บไซต์บริษัท https://www.bafsthai.com/th/management-system
นโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการ
บริษัทมีแนวปฏิบัติในเรื่องการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการให้บริการแก่ลูกค้าบริษัทน้ำมัน ซึ่งเป็นลูกค้าทางตรง ผ่านที่ประชุมคณะอนุกรรมการกิจการเชื้อเพลิง (Fueling Operations Committee: FOC) ประกอบด้วยผู้บริหารของบริษัทและผู้แทนจากบริษัทน้ำมันที่มีประสบการณ์ด้านน้ำมันอากาศยาน เป็นประจำทุกไตรมาสเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการปรับปรุงกระบวนการบริการน้ำมันอากาศยานให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดให้มีการตรวจสอบระบบปฏิบัติการให้บริการน้ำมันอากาศยาน โดยกลุ่มผู้ตรวจสอบของบริษัทน้ำมัน (Joint Inspection Group – JIG) ปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้มีความมั่นใจได้ว่าระบบปฏิบัติการของบริษัทเป็นไปตามมาตรฐานสากลบริษัทให้ความสำคัญต่อการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าทุกกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น คำแนะนำของลูกค้า และข้อร้องเรียน โดยมีช่องทางการติดต่อสื่อสาร ดังนี้
เจ้าหน้าที่การตลาดและลูกค้าสัมพันธ์ แผนกการตลาดและลูกค้าลูกค้าสัมพันธ์ สถานีบริการจัดเก็บน้ำมันอากาศยานดอนเมือง สำนักงานใหญ่
ที่อยู่ : 171/2 ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210
โทร:02-834-8900 E-mail: Marketing@bafs.co.th Website: www.bafsthai.com
นอกจากนั้น บริษัทมีการปฏิบัติและรับผิดชอบต่อลูกค้าโดยยึดถือจรรยาบรรณธุรกิจ ปฏิบัติตามกฎหมาย สัญญา ข้อตกลง ข้อกำหนด มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีต่อลูกค้า กรณีที่จะไม่สามารถปฏิบัติได้ ต้องรีบเจรจากับลูกค้าเป็นการล่วงหน้า เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการบริการอย่างครบถ้วน ถูกต้อง ทันต่อเหตุการณ์ และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง เปิดเผยเทคโนโลยีด้านการบริการผ่านเว็บไซต์ www.bafsthai.com ดำเนินการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการขายด้วยความรับผิดชอบ ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือใช้ประโยชน์จากความเข้าใจผิดของลูกค้า
นโยบายและแนวปฏิบัติเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า
บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลและการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาอนุมัตินโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทสำหรับลูกค้า นอกจากนี้ บริษัทได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และจัดการอบรมให้ความรู้แก่กรรมการและพนักงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ PDPA เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า ว่าจะได้รับการดูแลสิทธิในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลอย่างสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีรายละเอียดของนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เผยแพร่บนเว็บไซต์บริษัท
https://www.bafsthai.com/th/corporate-governance/policies
แผนการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า
บริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเอาใจใส่และรับผิดชอบต่อลูกค้า โดยมีการปฏิบัติต่อลูกค้าทุกรายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม มุ่งมั่นสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าโดยมุ่งเน้นคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดของผลิตภัณฑ์และบริการในระดับมาตรฐานสากล รวมถึงไม่เปิดเผยข้อมูลและความลับของลูกค้า และเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้า บริษัทจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ภายนอกบริษัท เช่น การเข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของบริษัท การจัดสัมมนา การเข้าพบลูกค้าอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 4 รายต่อเดือน เพื่อรับฟังข้อติชมอย่างสม่ำเสมอการพบปะลูกค้าในเทศกาลต่าง ๆ ฯลฯ
การประเมินผลความพึงพอใจของลูกค้า
บริษัทได้จัดทำการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าเป็นประจำมาอย่างต่อเนื่องโดยเล็งเห็นความสำคัญในการนำผลความพึงพอใจมาพัฒนาและปรับปรุงการบริการ และกระบวนการดำเนินงานเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการ ความคาดหวังของลูกค้าหรือผู้รับบริการได้อย่างดีเลิศ ในกรณีมีการร้องเรียนจากลูกค้าเกี่ยวกับการบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงด้านชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้า บริษัทจะดำเนินการภายในสำหรับปรับปรุงการบริการดังกล่าว โดยออกเอกสาร การปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Request: CAR) เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของความบกพร่อง แนวทางปฏิบัติการแก้ไขความบกพร่อง และป้องกันความบกพร่องไม่ให้เกิดซ้ำ ทั้งนี้ การสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงานประจำปีของบริษัท (Corporate KPIs) ซึ่งมีเป้าหมายระดับความพึงพอใจที่ไม่ต่ำกว่า 86% โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็นบริษัทน้ำมันและสายการบิน
ภาพรวมของคะแนนระดับความพึงพอใจของลูกค้าประจำปี 2566 ได้คะแนนรวมเท่ากับ 97%
จัดอยู่ในเกณฑ์ระดับ “ดีเยี่ยม” ตามระบบการประเมินผลงานของบริษัท (Balance scorecard)
ผู้ถือหุ้น :บริษัทปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นธรรม ส่งมอบผลตอบแทนที่เป็นธรรม สร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนด้วยการบริหารผลประกอบการที่ดีและการเจริญเติบโตอย่างน่าเชื่อถือ มีการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน สม่ำเสมอและครบถ้วน และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รวมทั้งเสนอวาระหรือบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการในการประชุมผู้ถือหุ้น
พันธมิตรทางธุรกิจและคู่แข่ง :บริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติต่อพันธมิตรทางธุรกิจและคู่แข่ง โดยดำเนินธุรกิจร่วมกันตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี หลักกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทางการค้าอย่างเป็นธรรม รวมทั้งมุ่งสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือที่ดีในระยะยาว
แนวปฏิบัติเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง โดยบริษัทได้ปฏิบัติตามสัญญาที่มีต่อคู่ค้า Supplier/Contractor ทุกรายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย รวมทั้งไม่เรียก ไม่รับ หรือไม่ให้ผลประโยชน์ใด ๆ กับคู่ค้า โดยบริษัทได้กำหนดจรรยาบรรณสำหรับคู่ธุรกิจ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้คู่ค้าปฏิบัติให้สอดคล้องตามจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท และบริษัทได้กำหนดนโยบาย JV Core Principle เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันการเปิดเผยข้อมูลที่อ่อนไหว (Sensitive Information)บริษัทได้กำหนดขั้นตอนและเกณฑ์ในการคัดเลือกคู่ค้าอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติตามที่บริษัทกำหนด และสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนหรือกระบวนการตามที่บริษัทกำหนด สำหรับการคัดเลือกคู่ค้ารายใหม่ ต้องผ่านการอนุมัติจากผู้มีอำนาจอนุมัติ นอกจากนี้ บริษัทยังมีหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีแบบฟอร์มการคัดเลือก Supplier/Contractor และแบบประเมิน Supplier/Contractor อย่างโปร่งใส เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ ภายใต้หลักเกณฑ์ของบริษัท เช่น การคัดเลือกคู่ค้าที่มีระบบการจัดการ (ISO 9001, ISO 14001, ISO 22301, ISO 45001) อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงการมีตัวตนจริงในธุรกิจการค้า โดยสามารถตรวจสอบได้จากหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และสำเนาบัตรประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจ ฯลฯ ทั้งนี้ การประเมิน Supplier/Contractor จะพิจารณาเกณฑ์การประเมินที่ครอบคลุมทุกด้าน ประกอบด้วย ด้านคุณภาพ การส่งมอบ ด้านราคา การบริการ และด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย ตามบัญชีรายชื่อ Approved Supplier List (ASL) รวมถึงในกิจกรรมที่มีผลกระทบกับระบบการจัดการของบริษัท ด้วยศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามนโยบายจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนของบริษัท โดยคำนึงถึง ราคา คุณภาพของสินค้ามีมาตรฐาน การส่งมอบสินค้าและบริการที่ตรงต่อเวลา
กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักการ Green Procurement
บริษัทมีแผนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดซื้อสินค้าเป็นสลากสีเขียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และมีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน รวมถึงการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของคู่ค้า
แนวทางการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนร่วมกับคู่ค้า
บริษัทได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพและความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนร่วมกับคู่ค้ารวมถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน โดยได้จัดตั้ง บริษัท บาฟส์ อินเทค จำกัด (BAFS INTECH: BI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบ พัฒนา ผลิต ประกอบ จำหน่ายผลิตภัณฑ์และงานให้บริการที่เกี่ยวข้องกับรถเติมน้ำมันอากาศยาน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของ BI ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญรายหนึ่งของบริษัท โดยตั้งแต่ปี 2564 บริษัทได้มีการส่งเสริมศักยภาพแก่คู่ค้าด้วยการส่งพนักงานของบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคไปยัง BI เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนร่วมมือกับ BI เพื่อพัฒนารถบริการน้ำมันในอากาศยานให้เป็นไปตามความต้องการของบริษัทและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ พนักงานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว ยังให้การสนับสนุนในการปฏิบัติงานของ BI เพื่อให้สอดคล้องตามข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ทั้งในระดับประเทศและสากล จากการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทำให้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา BI สามารถประกอบรถเติมน้ำมันอากาศยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล (Diesel-Hydrant Dispenser) และขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า 100% (EV-Hydrant Dispenser) เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์และงานให้บริการแก่บริษัทและคู่ค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีรายละเอียดของการดำเนินการต่าง ๆ ข้างต้น เผยแพร่บนเว็บไซต์บริษัท
https://sites.google.com/bafsgroup.com/bafssr2023/sustainable-supply-chain-management
นโยบายและการปฏิบัติต่อคู่แข่ง
บริษัทได้ปฏิบัติต่อคู่แข่งภายใต้หลักปฏิบัติสากลและกรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี โปร่งใส และไม่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต หรือไม่เหมาะสม และไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งด้วยการกล่าวหาในทางร้าย โดยปราศจากความจริง ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทไม่มีข้อพิพาทกับคู่แข่ง
สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม : บริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยประกอบกิจการอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิมนุษยชน มีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนตามกรอบความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนชุมชนโดยรอบบริษัท และการสนับสนุนสังคมโดยรวม รวมทั้ง มีกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคม โดยแบ่งเป็นการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการศึกษาของเยาวชน เพื่อส่งเสริมศาสนา และวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อเชื่อมโยงและส่งเสริมให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และการสนับสนุนหน่วยงานที่เสียสละในการทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม ทั้งนี้ บริษัทจะตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการดำเนินงานของบริษัท และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยมีรายละเอียดปรากฏตามหัวข้อ “การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน”
เจ้าหนี้และสถาบันการเงิน : บริษัทคำนึงและปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงที่มีต่อเจ้าหนี้/เจ้าหนี้ค้ำประกัน และสถาบันการเงินอย่างเคร่งครัด และมีวินัยการเงินที่ดี ปฏิบัติตามสัญญา ข้อตกลง หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีต่อเจ้าหนี้/เจ้าหนี้ค้ำประกัน และสถาบันการเงิน อย่างเสมอภาค เคร่งครัด และเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องเงื่อนไขค้ำประกัน การบริหารเงินทุนและมาตรการป้องกันการผิดชำระหนี้ กรณีที่จะไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ต้องรีบแจ้งเจ้าหนี้/เจ้าหนี้ค้ำประกัน และสถาบันการเงิน เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
ผู้กำกับดูแลและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง : บริษัทปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ด้วยความรับผิดชอบ ถูกต้อง และโปร่งใส โดยดำเนินงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และสนับสนุนในการปกป้องสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งเกิดจากการกระทำของบริษัท บริษัทจะปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการลดหรือชดเชยผลกระทบในกรณีดังกล่าวด้วย
2. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
บริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงได้กำหนดเป็นนโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และมีการดำเนินงานตามมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 45001:2018 ตลอดจนจัดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงาน และดำเนินการในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล Joint Inspection Group (JIG) ดังนี้
- พัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้สอดคล้องตามกฎหมาย รวมถึงมาตรฐานสากล และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่บริษัทนำมาประยุกต์ใช้
- ควบคุม ปรับปรุง และป้องกันแก้ไขอันตรายจากการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งมีผลกระทบต่อพนักงาน และทรัพย์สินของบริษัทที่มีระดับความเสี่ยงตั้งแต่ปานกลางขึ้นไป เพื่อให้เกิดการพัฒนางานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
- ปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของพนักงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของบริษัทในการดำเนินงานด้าน ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- พัฒนาพนักงานของบริษัท ให้มีความพร้อมด้านร่างกาย จิตใจ และมีความรู้ ความตระหนักในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงความปลอดภัยนอกงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งในงานและนอกงาน
- ให้การสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ในการดำเนินการตามระบบการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- ให้การรักษาความปลอดภัยแก่ชีวิตพนักงาน ผู้ปฏิบัติงาน และทรัพย์สินในพื้นที่ความรับผิดชอบของบริษัท ตลอดจนทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มีความทันต่อสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุไว้ที่สำนักงานของบริษัททุกแห่ง ได้แก่ จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ ถึงขั้นหยุดงาน ในระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2556 ถึง 31 ธันวาคม 2566 เท่ากับ 9,992,455 ชั่วโมง/คน โดยบริษัทได้กำหนดเป้าหมายชั่วโมงความปลอดภัยเท่ากับ 10,000,000 ชั่วโมง/คน โดยวันที่เกิดอุบัติเหตุล่าสุดคือ วันที่ 8 กันยายน 2556 ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการแก้ไขและป้องกันในเรื่องอุบัติเหตุดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสี่ยงความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน บริษัทได้นำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001:2018) มาบริหารจัดการ ซึ่งสามารถช่วยควบคุมอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างมาก
ในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น จัดตรวจสุขภาพประจำปีให้กับประชาชนในชุมชนโดยรอบพื้นที่ปฏิบัติงานของบริษัท การตรวจประเมิน เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน การจัดกิจกรรม Big Cleaning Day การจัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น การอบรมสุขภาพอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน การศึกษา และออกแบบสมรรถภาพร่างกายในการทำงาน (Fitness For Work) การดับเพลิงขั้นต้น (Fire Drill) การฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟตามกฎหมายประจำปี การฝึกซ้อมตามแผนปฏิบัติการฉุกเฉินของบริษัท การฝึกซ้อมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan: BCP) ตลอดจนการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) ให้กับพนักงาน การจัดโครงการรณรงค์ส่งเสริมเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ การตรวจประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงานและคุณภาพน้ำดื่ม น้ำทิ้ง การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพพนักงาน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการจัดฝึกอบรมดับเพลิงขั้นต้น (Fire Drill) ให้กับชุมชน พระภิกษุ และนักเรียนในโรงเรียนรอบพื้นที่สถานีบริการจัดเก็บน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองอีกด้วย
ในปี 2566 บริษัทได้รับรางวัลที่สำคัญ ได้แก่ รางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระดับประเทศ โดยบริษัทได้รับรางวัลทั้งสามพื้นที่ ได้แก่ สถานีบริการจัดเก็บและเติมน้ำมันอากาศยานดอนเมือง (สำนักงานใหญ่) ได้รับรางวัลเป็นปีที่ 17 ติดต่อกัน สถานีบริการเติมน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้รับรางวัลเป็นปีที่ 15 ติดต่อกัน และสถานีบริการจัดเก็บน้ำมันสุวรรณภูมิได้รับรางวัลเป็นปีที่ 13 ติดต่อกัน
นอกจากนี้ ในปี 2566 บริษัทได้ดำเนินการตามระบบบริหารนิรภัยการบิน (Safety Management System หรือ SMS) ซึ่งกำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และบริษัทได้ผ่านการรับรอง (Certified) ระบบการจัดการ อาชีวอนามัย และความปลอดภัย ISO 45001:2018 ในเดือนมิถุนายน 2566
อนึ่ง ในปี 2566 บริษัทได้รับรางวัลที่สำคัญด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีรายละเอียดปรากฏตามหัวข้อ “รางวัลแห่งความสำเร็จ ประจำปี 2566”
3. สิทธิมนุษยชน
บริษัทได้ประกาศนโยบายสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งกำหนดเป็นคำนิยามและแนวทางปฏิบัติ เพื่อยืดถือปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ปฏิบัติต่อทุกคนโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เคารพในสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล ไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความเหมือนหรือความแตกต่างด้านเพศ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ภาษา เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมืองหรือสถานะสังคมอื่นใด ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายไทยและกฎหมายในแต่ละประเทศที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ นอกจากนี้บริษัทยังได้กำหนดไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทอีกด้วย โดยกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทปฏิบัติตาม โดยสรุปได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการกระทำและการมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉยหากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
- พัฒนาและดำเนินการจัดการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ของบริษัท โดยทุกหน่วยงานมีหน้าที่ระบุความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ประเมินผลกระทบ กำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบ รวมทั้งมีกลไกในการเยียวยา บรรเทาผลกระทบอย่างเหมาะสม
- จัดให้มีการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามนโยบายสิทธิมนุษยชน
- มีการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานของบริษัท
- จัดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือรับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบริษัท รวมทั้งมีกระบวนการจัดการข้อร้องเรียน โดยจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคคลที่ร้องเรียนตามมาตรการคุ้มครองที่ระบุในจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท
- ดำเนินการทบทวนนโยบายสิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปีหรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เพื่อให้นโยบายมีความสอดคล้องกับหลักกฎหมาย หลักปฏิบัติสากล และสภาพแวดล้อมของธุรกิจ
- มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากบริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนของบริษัทแล้ว ในการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าหรือคู่ธุรกิจ บริษัทยังได้กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ในจรรยาบรรณสำหรับคู่ธุรกิจด้วย
โดยที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยมีรายงานหรือการร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
รายละเอียดและข้อมูลการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน จากรายงานความยั่งยืน ฉบับ Web Site https://sites.google.com/bafsgroup.com/bafs-sr2024/home/human-rights
4. ทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์
บริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่จะไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ โดยกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท และบริษัทย่อยทุกคนปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ ดังนี้
- ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท และหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น
- ปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมาย ข้อบังคับ และข้อผูกพันตามสัญญาทั้งหมด เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น รวมถึงสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ ความลับทางการค้า และข้อมูลกรรมสิทธิ์อื่น ๆ
- ไม่ละเมิดหรือนำสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่นไปใช้ในทางที่ผิด
- ในกรณีที่งานอันมีลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่นใดเกิดขึ้น จากการปฏิบัติงานของพนักงานลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา เหล่านั้นย่อมตกเป็นของบริษัท
โดยที่ผ่านมา ไม่เคยมีการรายงานหรือการร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์
5. การต่อต้านการติดสินบน และการคอร์รัปชัน
บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ต่อต้านการติดสินบนและการคอร์รัปชัน โดยในปี 2557 บริษัทได้รับการรับรอง เป็นสมาชิกสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) และต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
บริษัทได้มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-corruption Policy) ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อยทุกคนยึดถือเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- กรรมการบริษัทและพนักงานทุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชัน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์ทั้งต่อบริษัท ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อเพื่อน และต่อคนรู้จัก
- การดำเนินการใด ๆ ตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทและระเบียบ รวมทั้ง คู่มือปฏิบัติงานของบริษัทที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติอื่นใดที่บริษัทจะกำหนดขึ้นในอนาคต
- พนักงานไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต้องแจ้งและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ต่อผู้บังคับบัญชา หรือต่อบุคคลที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท
- บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่แจ้ง หรือให้ความร่วมมือในการรายงานเรื่องคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
- การคอร์รัปชันเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ นอกจากนี้ อาจจะได้รับโทษตามกฎหมายด้วย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
- บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจแก่กรรมการบริษัท พนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน
ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดคู่มือปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของผู้บริหารและพนักงานให้สอดคล้องตามนโยบายที่กำหนดไว้ โดยมีหลักการที่สำคัญ ดังนี้
1. การบริจาคเพื่อการกุศลและการสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม
- การบริจาคเพื่อการกุศลและการสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ว่าการกระทำดังกล่าว ไม่ได้ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการคอร์รัปชัน และกระทำในนามบริษัทเท่านั้น โดยบริษัทมีการกำหนดวงเงินและผู้มีอำนาจอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน
- ไม่รับหรือจ่าย สินบน รวมทั้งไม่ทำธุรกรรมโดยไม่ชอบธรรมในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยทางตรงหรือทางอ้อมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ บุคคลอื่น หรือหน่วยงานอื่น เพื่อให้มีการตอบแทนการปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน หรือหวังผลประโยชน์ เกี่ยวกับงานของบริษัท
- ผู้รับการบริจาคหรือการสนับสนุน หากเป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล วัด โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือองค์กรเพื่อประโยชน์ต่อสังคมจะต้อง
- มีใบรับรองหรือหลักฐานที่น่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบได้
- การบริจาคเพื่อการกุศลและการสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมเป็นไปตามคู่มืออำนาจการอนุมัติสั่งการ เรื่องการบริจาคเพื่อการกุศลและการสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม
- บริษัทไม่มีนโยบายรับการบริจาค เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท
- บริษัทมีนโยบายรับการสนับสนุนเพื่อกิจกรรมทางสังคม
2. การช่วยเหลือทางการเมือง
บริษัทยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่สนับสนุนหรือให้การช่วยเหลือทางการเมือง และส่งเสริมให้พนักงานใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ
3. การให้และรับของขวัญ
- ไม่รับ หรือเรียกร้อง ผลประโยชน์ หรือเสนอค่าตอบแทน หรือจ่ายสินบน ในทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้มีการตอบแทนการปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ต่อตน บริษัท หรือผลประโยชน์เกี่ยวกับงานของบริษัท
- การรับของขวัญต้องกระทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส และไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเชิงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
- การให้ของขวัญต้องเป็นไปในลักษณะที่ไม่ฟุ่มเฟือยหรือผิดศีลธรรมประเพณีอันดีงามและกฎหมายในท้องถิ่นนั้น
- การให้ของขวัญเป็นไปตามคู่มืออำนาจการอนุมัติสั่งการ เรื่อง การให้ของขวัญ
4. การเลี้ยง/รับการเลี้ยงรับรองและการให้/รับบริการต้อนรับ
- การเลี้ยง/รับการเลี้ยงรับรองและการให้/รับบริการต้อนรับต้องเป็นความจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไปและเพื่อเป็นประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัท ในลักษณะที่ไม่เกินกว่าเหตุสัมพันธ์ปกติจากบุคคลอื่นที่มีหน้าที่หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานของบริษัท และมีความสมเหตุสมผล โดยบริษัทมีการกำหนดวงเงินและผู้มีอำนาจอนุมัติสำหรับการเลี้ยงรับรองและการบริการต้อนรับ และกำหนดการรายงานสำหรับเรื่องดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน
- ไม่จ่ายค่ารับรอง อันรวมถึงค่าที่พัก ค่าโดยสารสำหรับการเยี่ยมชมสถานที่ประกอบการ การศึกษาดูงาน ค่าอาหารและเครื่องดื่ม หรือค่าใช้จ่ายอื่น เพื่อจูงใจให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคคลอื่น หรือหน่วยงานอื่น กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อประโยชน์ของบริษัท
- ไม่รับหรือเรียกร้องผลประโยชน์หรือรับเชิญไปงานเลี้ยงประเภทสังสรรค์ หรืองานเลี้ยงรับรอง รวมถึงการรับเชิญไปดูงานที่บุคคลภายนอกเสนอตัวเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องให้ หรือรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากบุคคลภายนอก เพื่อให้มีผลต่อการตัดสินใจดำเนินธุรกิจร่วมกัน หรือตอบแทนการปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ หรือมุ่งหวังผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
5. การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก
บริษัทไม่มีนโยบายการจ่ายค่าอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐ/เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม นอกจากนี้ บริษัทได้มีการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อาจเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันและการดำเนินการเพื่อป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน ดังนี้
-
การประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยเพื่อระบุถึงกิจกรรมที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน
ตามที่บริษัทได้ประกาศใช้นโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อให้ทุกคนในองค์กรปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันไปในแนวทางเดียวกัน และสอดคล้องกับกระบวนการบริหารความเสี่ยงของบริษัท จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชัน โดยกำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชันในทุกกระบวนการปฏิบัติงาน โดยการประเมินความเสี่ยงเป็นการค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมาย วิเคราะห์และทำความเข้าใจว่า ความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชันนั้นส่งผลกระทบและมีโอกาสเกิดอย่างไร รวมทั้งพิจารณาระดับความรุนแรงของความเสี่ยง เพื่อพิจารณาการตอบสนองความเสี่ยงนั้นอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ กำหนดให้ทุกฝ่าย/หน่วยงาน ประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน ประกอบด้วย การระบุความเสี่ยง ประเมินระดับความรุนแรงของความเสี่ยง และจัดทำแผนควบคุมความเสี่ยง โดยรายงานความคืบหน้าของแผนฯ ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีขั้นตอนการอนุมัติจากผู้อำนวยการฝ่ายของเจ้าของความเสี่ยง รายงานดังกล่าวจะเป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการตรวจสอบการดำเนินการที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน รวมถึงมีการรายงานความคืบหน้าแผนควบคุมความเสี่ยงต่อคณะทำงานกำกับดูแลความเสี่ยงกลุ่มบริษัท คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบเป็นประจำทุกไตรมาส และมีการสอบทานโดยคณะกรรมการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนั้น ปี 2566 คณะทำงานกำกับดูแลความเสี่ยงกลุ่มบริษัทที่ประกอบด้วยผู้แทนจากบริษัทและบริษัทย่อย มีการพิจารณาทบทวนประเด็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้น จากการดำเนินงานของแต่ละบริษัทในรอบการพิจารณาทบทวนความเสี่ยงประจำปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากลุ่มบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชันที่ครอบคลุม สอดคล้องตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน
-
การกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อควบคุม ป้องกัน และติดตามความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชัน
-
บริษัทกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงโดยระบุเรื่องที่เกี่ยวกับคอร์รัปชัน ดังนี้
- คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงด้านทุจริตและคอร์รัปชันให้สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณธุรกิจ และนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน
- เมื่อพนักงานพบเห็นหรือรับทราบความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อบริษัท หรือขัดต่อหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณธุรกิจ และนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาทันทีเพื่อดำเนินการจัดการควบคุมความเสี่ยงต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัดจึงได้มีการระบุอยู่ในวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงในกฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้วย
-
บริษัทกำหนดความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Tolerance) ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการต่อต้านการคอร์รัปชันในกลยุทธ์เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจ ดังนี้
ยอมรับความเสี่ยงปานกลาง ด้านการขยายธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการลงทุน ขยายธุรกิจหลักและถือหุ้นในกลุ่มบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและธุรกิจใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจทั้งหมดยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ต่อต้านคอร์รัปชัน มีการชำระภาษีที่ถูกต้องรวมทั้งให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยร่วมกับความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอก รวมถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ บริษัทและบริษัทย่อยยังได้มีการประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันในกระบวนการต่างๆ โดยคณะทำงานบรรษัทภิบาลกลุ่มบริษัทได้มีการนำข้อมูลจากการประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันของบริษัทไปทบทวนมาตรการป้องกันการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เหมาะสมอีกด้วย
-
-
บริษัทได้สื่อสารจรรยาบรรณธุรกิจและนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันทั้งภายในและภายนอกบริษัท เช่น คู่ค้า ผู้ค้า/ผู้ขาย ของบริษัท โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ระบบการจัดการเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ติดประกาศบริษัทและเว็บไซต์ของบริษัท
ด้านการสื่อสารภายใน บริษัทได้มีการสื่อสารเน้นย้ำในเรื่องดังกล่าวให้แก่พนักงานและผู้บริหาร ผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) เป็นประจำอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง
ด้านการสื่อสารภายนอก บริษัทดำเนินการสื่อสารนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันแก่บริษัทย่อยและบริษัทร่วม โดยการเผยแพร่ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) รวมถึงการสื่อสารแผ่นพับอิเล็กทรอนิกส์ให้กับคู่ธุรกิจ เพื่อเผยแพร่แนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันของบริษัท และเชิญชวนคู่ธุรกิจเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์และขอรับรองการเป็นสมาชิกโครงการ CAC ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าว บริษัทได้จัดให้มีการอบรมคู่ธุรกิจและเชิญชวนเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ CAC อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 บริษัทได้จัดอบรมคู่ธุรกิจเป็นปีที่ 8 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ณ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ ภายใต้หัวข้อ “จรรยาบรรณสำหรับคู่ธุรกิจ” โดยได้เชิญคู่ธุรกิจที่สำคัญทั้งหมด รวมทั้งคู่ธุรกิจใหม่มาเข้าร่วมการอบรม โดยภายในงานมีการบรรยายเกี่ยวกับจรรยาบรรณสำหรับคู่ธุรกิจ การเสวนา หัวข้อ “พลังพันธมิตรเพื่ออนาคต” ซึ่งพูดถึงแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การต่อต้านคอร์รัปชัน ตลอดจนลงนามรับทราบในการปฏิบัติตามจรรยาบรรณสำหรับคู่ธุรกิจ อีกทั้ง บริษัทยังให้คำปรึกษาแก่คู่ธุรกิจที่ประสงค์จะเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์และขอรับรองการเป็นสมาชิกโครงการ CAC อีกด้วย
-
บริษัทได้กำหนดให้กรรมการทุกคนลงนามรายงานการรับทราบนโยบายบริหารกิจการที่ดี นโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน จรรยาบรรณธุรกิจ การใช้ข้อมูลภายใน และรับรองการไม่กระทำการอันเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทและได้กำหนดให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนลงนามรายงานการรับทราบนโยบายบริหารกิจการที่ดี นโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน จรรยาบรรณธุรกิจ จรรยาบรรณสำหรับคู่ธุรกิจ คู่มือปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน การใช้ข้อมูลภายใน และรับรองการไม่กระทำการอันเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทเป็นประจำทุกปี โดยในปีที่ผ่านมา กรรมการผู้บริหารและพนักงานลงนามรับทราบและปฏิบัติตามนโยบายและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ดังกล่าวครบถ้วน ร้อยละ 100
-
บริษัทได้จัดให้มีหัวข้อแนวปฏิบัติในการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นหลักสูตรหนึ่งในการปฐมนิเทศกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานใหม่ พนักงานเลื่อนตำแหน่ง พนักงานหมุนเวียนตำแหน่ง และพนักงานโอนย้ายตำแหน่งทุกคน ตลอดจนได้ให้มีการฝึกอบรมแก่พนักงานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี นโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นประจำทุกปี
โดยในปี 2566 บริษัทได้จัดกิจกรรม CG DAY เพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณธุรกิจ มาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมทั้ง นโยบายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องแก่ผู้บริหารและพนักงานทุกคน 100% ในระหว่างวันที่ 10-19 กรกฎาคม 2566
อีกทั้ง ในวันที่ 14 ธันวาคม 2566 บริษัทจัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของกรรมการบริษัทกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน ในศตวรรษที่ 21” บรรยายโดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กระบวนการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนบทบาทของกรรมการบริษัทในการต่อต้านคอร์รัปชันดังกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทและบริษัทย่อยยังได้เข้าร่วมกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ซึ่งจัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ภายใต้หัวข้อ “ข้อเสนอจาก ACT ถึงรัฐบาลใหม่” ต่อด้วยรับฟังการเสวนาหัวข้อ “Active Woman พลังผู้หญิงต้านโกง” และการบรรยาย ACT Ai Demonstration หัวข้อ “What The FACT ? แค่สงสัยก็เสิร์ช ACT Ai เลย” ซึ่งเป็นระบบค้นหาข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาเครื่องมือปราบโกงในยุคดิจิทัลอีกด้วย
-
บริษัทมีกระบวนการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันและจรรยาบรรณธุรกิจที่เป็นรูปธรรม โดยจัดให้มีระบบการประเมินผลตนเองสำหรับผู้บริหารและพนักงานทุกคน โดยระบบ Online เป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี 2566 มีผู้บริหารและพนักงานทำแบบทดสอบคิดเป็น 100% ของพนักงานทั้งหมดที่ปฏิบัติหน้าที่ปัจจุบันและมีผลการทดสอบผ่านเกณฑ์ทุกคน โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 92.67 และมีการติดตามและประเมินผลโดยคณะทำงานบรรษัทภิบาลกลุ่มบริษัท รวมทั้งสรุปผลการประเมินตนเองเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท
-
บริษัทจัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแส หากมีการพบเห็นการกระทำทุจริตคอร์รัปชัน และมีมาตรการคุ้มครองให้กับผู้แจ้งเบาะแสด้วย
-
บริษัทได้ผ่านการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) ในปี 2557 และผ่านการรับรองการต่ออายุเป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานความถูกต้องของเอกสารอ้างอิงและแบบประเมินตนเองเพื่อพัฒนาระบบต่อต้านคอร์รัปชันของบริษัทตามกระบวนการรับรองการเป็นสมาชิก CAC รวมทั้งยังได้สอบทานการปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
6. ช่องทางในการติดต่อ
บริษัทได้จัดให้มีช่องทางสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มสามารถส่งข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น หรือคำถาม รวมทั้งข้อร้องเรียนทั้งกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิและกรณีอื่น ๆ มายังบริษัทหลายช่องทาง ดังนี้
- เลขานุการบริษัท e-mail: parndao@bafs.co.th โทรศัพท์ 0 2834 8912
- แผนกลงทุนสัมพันธ์ e-mail: pitsapong@bafs.co.th โทรศัพท์ 0 2834 8914
- ไปรษณีย์ ถึง เลขานุการบริษัท บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 171/2 ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210
ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นประเด็นสำคัญ หรือเป็นเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท เลขานุการบริษัทจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป
7. มาตรการการแจ้งเบาะแสและคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส
บริษัทจัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแสและรับเรื่องข้อร้องเรียนของทั้งจากบุคคลภายนอกและพนักงาน กระบวนการดำเนินการเมื่อได้รับข้อร้องเรียน อีกทั้งยังได้กำหนดมาตรการคุ้มครองและรักษาความลับของผู้ร้องเรียน ดังนี้
- การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
บริษัทจัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน ในกรณีที่สงสัยว่าจะมีการกระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท การกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงพฤติกรรมที่ส่อถึงการทุจริต การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
- ผู้บังคับบัญชาที่ตนเองไว้วางใจในทุกระดับ
- คณะทำงานบรรษัทภิบาลกลุ่มบริษัท
- ทางจดหมาย
ประธานกรรมการบริหารหรือประธานกรรมการตรวจสอบ
บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 171/2 ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210 - ทาง e-mail โดยส่งมาที่ ec@bafs.co.th หรือ ac@bafs.co.th
- เว็บไซต์บริษัท www.bafsthai.com
- กระบวนการดำเนินการเมื่อได้รับเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
เมื่อบริษัทได้รับเบาะแสหรือข้อร้องเรียนมาแล้ว บริษัทโดยคณะทำงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะดำเนินการรวบรวมตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูล กำหนดแนวทางการแก้ไข/การป้องกัน รวมถึงกำหนดมาตรการในการดำเนินการเพื่อบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและประมวลผล เพื่อรายงานผลให้ผู้รับแจ้งเบาะแส/หรือข้อร้องเรียน และผู้แจ้งเบาะแส/หรือข้อร้องเรียนทราบ รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวต่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธานกรรมการบริหาร คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทตามลำดับแล้วแต่กรณี
- มาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส
เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้แจ้งเบาะแส/หรือข้อร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย
- บริษัทจะไม่เปิดเผยชื่อ สกุล ที่อยู่ ภาพ หรือข้อมูลอื่นใดของผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน และจะเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นความลับ
- ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายด้วยกระบวนการที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม
- บริษัทจะให้ความคุ้มครองแก่พนักงานที่แจ้งเบาะแส หรือให้ความร่วมมือ หรือปฏิเสธการคอร์รัปชัน โดยจะไม่ลงโทษและกล่าวโทษแต่อย่างใด รวมทั้งจะไม่ลดตำแหน่ง หรือเงินเดือน แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม
- บทลงโทษ
พนักงานที่บริษัทตรวจสอบแล้วพบว่าได้กระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจ นโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน จะได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามคู่มือนโยบายและระเบียบข้อบังคับของบริษัท สำหรับพนักงานว่าด้วยเรื่องวินัยและโทษทางวินัย โดยจะพิจารณาลงโทษพนักงานที่กระทำความผิดตั้งแต่การตักเตือนด้วยวาจาจนถึงการพักงานหรือการเลิกจ้างโดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับขั้นการลงโทษซึ่งได้รับการอนุมัติขั้นสุดท้ายตามคู่มืออำนาจการอนุมัติสั่งการ หรือได้รับโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
- การรายงานผล
บริษัทจะแจ้งผลไปยังผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนภายใน 30 วัน หลังจากดำเนินการตามกระบวนการเสร็จสิ้น อนึ่ง หากพนักงานต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันสามารถสอบถามได้ที่ผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น หรือคณะทำงานบรรษัทภิบาลกลุ่มบริษัท หรือผู้จัดการแผนกกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ โดยบริษัทมีนโยบายจะไม่เปิดเผยข้อมูลแต่อย่างใด
- บริษัทไม่เคยมีประวัติการฝ่าฝืนกฎหมายด้านแรงงาน การจ้างงาน ผู้บริโภค การแข่งขันทางการค้า
- ในปี 2566 บริษัทไม่ได้รับการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนจากบุคคลภายนอกและพนักงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดด้านจรรยาบรรณธุรกิจหรือนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น
1. การเปิดเผยข้อมูลของบริษัท
บริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ ในแบบ 56-1 One Report และผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท www.bafsthai.com ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เช่น วิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบายที่สำคัญต่าง ๆ ของบริษัท โครงสร้างกลุ่มธุรกิจ ลักษณะการประกอบธุรกิจและภาวะการแข่งขัน ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โครงสร้างการถือหุ้น โครงสร้างองค์กร คณะกรรมการและคณะผู้บริหาร ประเภทของกรรมการ ประวัติและการถือหุ้นของกรรมการและผู้บริหาร ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประวัติการอบรมของกรรมการ นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนแก่กรรมการและผู้บริหาร รูปแบบค่าตอบแทน และจำนวนค่าตอบแทนจากการเป็นกรรมการบริษัทและบริษัทย่อย การทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยในรอบปีที่ผ่านมา เช่น จำนวนครั้งการประชุม จำนวนครั้งที่กรรมการแต่ละท่านเข้าร่วมประชุม ข้อมูลด้านนักลงทุนสัมพันธ์ หนังสือนัดประชุมและรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ข่าวสารองค์กร (Press Release) ฯลฯ โดยบริษัทได้ปรับปรุงข้อมูลในเว็บไซต์ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
2. การจัดทำรายงานทางการเงิน
เพื่อแสดงความรับผิดชอบในการจัดทำรายงานทางการเงินว่ามีความถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส อย่างเพียงพอที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของบริษัท ป้องกันการทุจริตและการดำเนินการที่ผิดปกติ รวมทั้งได้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป และใช้นโยบายบัญชีที่เหมาะสมและถือปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ ตลอดจนมีการพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลและความรอบคอบในการจัดทำงบการเงินของบริษัท และเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดความเชื่อมั่นต่อรายงานทางการเงินที่บริษัทจัดทำขึ้นว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้างต้น คณะกรรมการบริษัทจึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อทำหน้าที่สอบทานให้บริษัทมีรายงานทางการเงินและการดำเนินงานอย่างถูกต้อง เพียงพอ รวมทั้งคณะกรรมการบริษัทยังได้จัดทำรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการในการจัดทำรายงานทางการเงินซึ่งครอบคลุมเรื่องสำคัญตามข้อพึงปฏิบัติสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เสนอแนะไว้ ลงนามโดยประธานกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยแสดงควบคู่กับรายงานของผู้สอบบัญชีในแบบ 56-1 One Report
ในปี 2566 บริษัทได้ให้ผู้สอบบัญชีจากบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท ซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาชีพ มีความเป็นอิสระ และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยงบการเงินของบริษัทได้รับการรับรองโดยไม่มีเงื่อนไข และถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญ ตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ/คณะกรรมการบริษัทก่อนเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น
บริษัทมีการจัดทำบทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร (MD&A) ซึ่งได้มีการจัดทำเป็นรายไตรมาส เพื่ออธิบายในเชิงวิเคราะห์ เกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน ปัจจัยที่มีผลต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ นอกจากนี้ มีการจัดทำและเผยแพร่ข่าวสารสำคัญต่าง ๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้นผ่านทาง BAFS Newsletter
บริษัทใช้ดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงาน (Key Performance Indicators: KPIs) โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในแผนกลยุทธ์และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ตามแนวคิด Balanced Scorecard แยกตามแต่ละมุมมอง ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านกระบวนการจัดการภายใน และด้านการเรียนรู้และพัฒนา เช่น อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ส่วนแบ่งทางการตลาด ระดับความพึงพอใจของลูกค้าความสำเร็จของแผนการพัฒนาบุคลากร ฯลฯ
3. ช่องทางในการเปิดเผยข้อมูล
บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริษัททั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
- ระบบการเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต.
- เว็บไซต์ของบริษัท www.bafsthai.com ซึ่งมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
- รายงานผลการดำเนินงานรายไตรมาส โดยการให้ข้อมูลต่อนักวิเคราะห์และนักลงทุนในการจัดกิจกรรมแถลง ผลประกอบการ (Opportunity Day) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือสถานที่อื่น ๆ ตามความเหมาะสม
- การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
- การจัดทำจดหมายข่าวที่นำเสนอถึงฐานะการเงินของบริษัท
- การให้ข้อมูลต่อนักวิเคราะห์และนักลงทุนที่มาเยี่ยมชมและหารือกับผู้บริหารของบริษัท
- Analyst Meeting
- การจัดส่งเอกสารให้แก่ผู้ถือหุ้นทางช่องทางต่าง ๆ
แผนกลงทุนสัมพันธ์มีแผนงานเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2566 ได้จัดให้มีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่
กิจกรรม | จำนวนครั้ง |
---|---|
การเข้าร่วมกิจกรรมตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อพบนักลงทุน (Opportunity Day) | 4 |
การจัดให้มีการพบปะกับนักวิเคราะห์/นักลงทุน | 22 |
การให้สัมภาษณ์ข่าวต่อสื่อมวลชน/การจัดทำจดหมายข่าว (Press Release) | 6 |
บริษัทไม่เคยมีประวัติการถูกสั่งให้แก้ไขงบการเงินโดยสำนักงาน ก.ล.ต. รวมทั้งได้เปิดเผยงบการเงินประจำปีและรายไตรมาสต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุนภายในกำหนดเวลา
คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลกิจการเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท และมีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ถือหุ้น โดยเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร
1. โครงสร้างคณะกรรมการ
คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาความเหมาะสมของโครงสร้างคณะกรรมการ ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยกรรมการอย่างน้อย 11 ท่าน แต่ไม่เกิน 15 ท่าน โดยปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการจำนวน 15 ท่าน ดังนี้
- กรรมการที่เป็นผู้บริหาร 2 ท่าน (ร้อยละ 13.33)
- กรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร 13 ท่าน (ร้อยละ 88.67)
- กรรมการอิสระ 6 ท่าน (ร้อยละ 40)
- กรรมการที่เป็นผู้หญิง 4 ท่าน (ร้อยละ 26.67)
โดยแบ่งเป็นกรรมการจากภายนอกอื่น 7 ท่าน ทั้งนี้ มีกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร 6 ท่าน มีประสบการณ์ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมหลักที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่
บริษัทจัดให้มีนโยบายในการไปดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทย่อย ของกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานบริษัท รวมทั้งมีระบบการติดตามดูแลการดำเนินงานและการกำหนดทิศทางในการปฏิบัติงานของบริษัทย่อย ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทสามารถติดตามควบคุมดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทได้จัดให้มีคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อช่วยศึกษาในรายละเอียดและกลั่นกรองงาน อันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคณะกรรมการบริษัท และเพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีรายละเอียด ตามข้อ “ข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการชุดย่อย”
2. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
กรรมการบริษัทต้องรายงานให้บริษัททราบโดยไม่ชักช้า เมื่อมีกรณี ดังต่อไปนี้
- การมีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมของตนหรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของบริษัทหรือบริษัทย่อย
- ถือหุ้นหรือหุ้นกู้ในบริษัท หรือบริษัทในเครือ โดยระบุจำนวนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้น หรือลดลง
จรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท มีการกำหนดเกี่ยวกับจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ จรรยาบรรณต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ จรรยาบรรณกรรมการบริษัท จรรยาบรรณพนักงานในด้านต่าง ๆ เช่น ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การรักษาความลับ การจัดหา การใช้ข้อมูลภายใน การต่อต้านการติดสินบนและการคอร์รัปชัน ทรัพย์สินทางปัญญาและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น และการติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติตามและวินัย
นอกจากนี้ บริษัทยังได้กำหนดจรรยาบรรณสำหรับคู่ธุรกิจ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจร่วมกันกับคู่ธุรกิจของบริษัท ได้แก่ ผู้จัดหาน้ำมันอากาศยาน หรือสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการให้บริการของบริษัท หรือผู้จัดหาสินค้าและบริการให้กับบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทได้ส่งเสริมให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมีการปฏิบัติตาม รวมทั้งกำหนดระบบการติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติตามที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การจัดให้มีระบบการประเมินผลตนเองด้วยระบบ online เป็นประจำทุกปี สำหรับผู้บริหารและพนักงานทุกคน โดยมีการวิเคราะห์และสรุปผลการประเมินตนเองเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท
3. อำนาจอนุมัติของคณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัทมีอำนาจกำหนดนโยบายและอนุมัติเรื่องต่าง ๆ ของบริษัทตามขอบเขตหน้าที่ที่กำหนดโดยกฎหมาย ข้อบังคับของบริษัท และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมถึง
- การกำหนดและทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ในการดำเนินงาน
- งบประมาณและแผนการดำเนินงานธุรกิจประจำปี
- การแต่งตั้งกรรมการที่ออกระหว่างปี
- การแต่งตั้งกรรมการเป็นกรรมการผู้แทนในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม
- การเข้าร่วมทุนในโครงการต่าง ๆ การทำสัญญาต่าง ๆ ที่สำคัญของบริษัท
- การเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน รายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ เป็นต้น
4. การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูงสุด
ในการสรรหากรรมการบริษัทแทนกรรมการที่ว่างลง คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาลจะพิจารณาทบทวนโครงสร้างกรรมการให้มีความเหมาะสมกับธุรกิจของบริษัทและดำเนินการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการที่ต้องการสรรหาจาก Board Skill Matrix ของบริษัท โดยคำนึงถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการ ความรู้ความสามารถ และคุณสมบัติต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมาย คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาลอาจใช้วิธีในการสรรหาวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีในการสรรหา เช่น การเสาะหา (Searching) จากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับบริษัท โดยอาจใช้บริษัทที่ปรึกษา (Professional Search Firm) หรือการเสนอชื่อจากกรรมการบริษัท หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทซึ่งรวมถึงการใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลกรรมการ (Director Pool) ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เป็นส่วนประกอบในการสรรหากรรมการด้วย นอกจากนั้น ในทุกปี บริษัทได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้เสนอรายชื่อกรรมการล่วงหน้า คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาลจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกรายชื่อและเสนอรายชื่อให้แก่คณะกรรมการบริษัทและ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับการสรรหากรรมการบริษัทแทนกรรมการที่ออกตามวาระซึ่งต้องเสนอผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการ จะใช้เสียงข้างมากตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
- ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งหุ้นต่อเสียงหนึ่ง
- ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะต้องใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดตาม 1 เลือกตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ แต่จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้
- บุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับลงมา เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่าจำนวนกรรมการที่จะพึงมีหรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งในลำดับถัดลงมามีคะแนนเสียงเท่ากันเกินจำนวนกรรมการที่พึงมีหรือจะพึงเลือกตั้ง ในครั้งนั้น ให้ผู้เป็นประธานที่ประชุมเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด
ดังนั้นผู้ถือหุ้นจึงไม่สามารถแบ่งคะแนนเสียงของตนในการเลือกตั้งกรรมการเพื่อให้ผู้ใดมากน้อยตามมาตรา 70 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน (Cumulative Voting)
อนึ่ง บริษัทได้มีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการบริษัท รวมทั้งได้มีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการอิสระซึ่งเข้มงวดกว่าข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. ในเรื่องการถือหุ้น เพื่อให้กรรมการอิสระของบริษัทมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยได้กำหนดนิยาม “กรรมการอิสระ” ว่าจะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 0.5 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท ทั้งนี้ ให้นับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องของกรรมการอิสระรายนั้น ๆ ด้วย
- ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงานที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำหรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ทั้งนี้ ลักษณะต้องห้ามดังกล่าวไม่รวมถึงกรณีที่กรรมการอิสระเคยเป็นข้าราชการ หรือที่ปรึกษาของส่วนราชการซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท
- ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมายในลักษณะที่เป็นบิดามารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร ของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทหรือบริษัทย่อย
- ไม่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน รวมทั้งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
- ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุมหรือหุ้นส่วนของสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทสังกัดอยู่ เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
- ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพใด ๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้รับค่าบริการเกินกว่า 2 ล้านบาทต่อปีจากบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของผู้ให้บริการทางวิชาชีพนั้นด้วย เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
- ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่
- ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัท หรือบริษัทย่อยหรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่มีนัย ในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษา ที่รับเงินเดือนประจำ หรือถือหุ้นเกินร้อยละ 1 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่นซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัทหรือบริษัทย่อย
- ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท
- ไม่เป็นกรรมการของบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทย่อยลำดับเดียวกัน เฉพาะที่เป็นบริษัทจดทะเบียน
- ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท
การสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่
คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล เป็นผู้ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยคัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพ จากทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยพิจารณาจากประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีทักษะและมีคุณสมบัติเฉพาะในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจของบริษัท มีภาวะความเป็นผู้นำสูง มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถในเชิงบริหารที่สอดคล้องกับค่านิยมองค์การและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของบริษัท หลังจากผ่านกระบวนการสรรหาแล้วจะได้นำเสนอให้แก่คณะกรรมการบริษัทเพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป
5. การประชุมคณะกรรมการ
รายละเอียดการเข้าร่วมประชุมของคณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อย ปรากฏในหัวข้อ “การเข้าร่วมประชุมและการจ่ายค่าตอบแทนคณะกรรมการรายบุคคล”
ในปี 2567 บริษัทได้กำหนดตารางการประชุมคณะกรรมการบริษัทไว้ล่วงหน้า ดังนี้
ประชุมคณะกรรมการบริษัท | เดือน (เวลา) |
---|---|
ครั้งที่ 1/2567 | ก.พ. 2567 (ช่วงเช้า) |
ครั้งที่ 2/2567 | พ.ค. 2567 (ช่วงเช้า) |
ครั้งที่ 3/2567 | ส.ค. 2567 (ช่วงเช้า) |
ครั้งที่ 4/2567 | พ.ย. 2567 (ช่วงเช้า) |
ครั้งที่ 5/2567 | ธ.ค. 2567 (ช่วงเช้า) |
6. ประธานกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
ประธานกรรมการเป็นกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร ไม่เป็นบุคคลเดียวกับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับฝ่ายบริหาร โดยมีบทบาท อำนาจ และหน้าที่ที่แบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน โดยประธานกรรมการเป็นกรรมการอิสระ และทำหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่เป็นหัวหน้าและผู้นำคณะผู้บริหารของบริษัทรับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริษัท ในการบริหารจัดการเพื่อให้บรรลุตามนโยบายและแผนกลยุทธ์ของบริษัทที่ได้กำหนดไว้
7. การประชุมของกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร
คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายส่งเสริมให้กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร มีโอกาสที่จะประชุมระหว่างกันเองตามความจำเป็น เพื่ออภิปรายปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการที่อยู่ในความสนใจ โดยไม่มีฝ่ายบริหารเข้าร่วมด้วย โดยในปี 2566 บริษัทมีการประชุมของคณะกรรมการโดยไม่มีฝ่ายบริหารเข้าร่วมประชุม จำนวน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 โดยมีประเด็นที่สำคัญในการหารือคือ ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทในเครือและได้มีการแจ้งผลการประชุมต่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่.
8. การประเมินตนเองของคณะกรรมการ
บริษัทได้จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยเป็นประจำทุกปี โดยการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบ แบ่งออกเป็นการประเมินผลทั้งคณะและการประเมินผลตนเองรายบุคคล สำหรับการประเมินผลของคณะกรรมการชุดย่อย ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการกำกับดูแลความยั่งยืน และคณะกรรมการลงทุน เป็นการประเมินผลทั้งคณะ ทั้งนี้ แบบประเมินผลของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยทุกชุดมีหลักเกณฑ์ในการประเมินเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งได้มีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีความเหมาะสม
บริษัทมีกระบวนการประเมินผลของคณะกรรมการ โดยเลขานุการบริษัทและเลขานุการคณะกรรมการชุดย่อย เป็นผู้จัดส่งแบบประเมินให้แก่กรรมการ เพื่อประเมินผลและส่งกลับมายังบริษัท โดยบริษัทจะไม่เปิดเผยชื่อกรรมการที่ประเมินผลเพื่อให้กรรมการมีความเป็นอิสระในการประเมินผลและบริษัทมีการนำเสนอผลการประเมินต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อร่วมกันพิจารณาผลการประเมินและกำหนดแนวทางปรับปรุงในการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัททั้งคณะ แบ่งออกเป็น 7 หัวข้อหลัก ได้แก่
- โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการ
- บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
- การประชุมคณะกรรมการ
- พลวัตในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
- ความสัมพันธ์กับฝ่ายจัดการ
- การพัฒนากรรมการ
- ประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ (ในภาพรวม)
สำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทเป็นรายบุคคล แบ่งออกเป็น 6 หัวข้อหลัก ได้แก่
- คุณสมบัติส่วนบุคคล
- ความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่
- การมีส่วนร่วมในการประชุม
- บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ
- ความสัมพันธ์กับคณะกรรมการและฝ่ายจัดการ
- ประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ (ในภาพรวม)
โดยแบบประเมินผลทั้ง 2 แบบ มีเกณฑ์การประเมินผล ดังนี้
ระดับ | ความหมาย |
---|---|
0 | ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง / ไม่มีการดำเนินการในเรื่องนั้น |
1 | ไม่เห็นด้วย / มีการดำเนินการในเรื่องนั้นเล็กน้อย |
2 | เห็นด้วย / มีการดำเนินการในเรื่องนั้นพอสมควร |
3 | เห็นด้วยค่อนข้างมาก / มีการดำเนินการในเรื่องนั้นดี |
4 | เห็นด้วยอย่างมาก / มีการดำเนินการในเรื่องนั้นอย่างดีเยี่ยม |
ทั้งนี้ ในปี 2566 ผลการประเมินการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการสรรหาฯ อยู่ในเกณฑ์ "มีการดำเนินการในเรื่องนั้นดีถึงดีเยี่ยม" และคณะกรรมการชุดย่อยอื่นๆ อยู่ในระดับ "ดีมากถึงดีเยี่ยม"
นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดให้มีการประเมินประสิทธิภาพของการประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นรายครั้งทุกครั้งหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น โดยจะมีการแจ้งผลการประเมินให้ทราบในการประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งถัดไป
9. การประเมินผลงานของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
บริษัทจัดทำแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทุกปี โดยคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนจะเป็นผู้ประเมินและนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติ ทั้งนี้ สรุปผลการประเมินการปฏิบัติงานของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ถือเป็นข้อมูลลับเฉพาะ ไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยการประเมินการปฏิบัติงานของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มีหลักเกณฑ์การประเมินแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- ผลการประกอบการของบริษัท
- แผนกลยุทธ์ของบริษัท
- พฤติกรรม การบริหารงาน และการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ ผลการประเมินดังกล่าวจะถูกนำไปพิจารณากำหนดอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และนำเสนอต่อคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนและคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
10. ค่าตอบแทน
ค่าตอบแทนของกรรมการ : คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนของบริษัทมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนของกรรมการบริษัท โดยคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนได้มีกระบวนการพิจารณาค่าตอบแทนไว้อย่างชัดเจน โปร่งใส และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยค่าตอบแทนของคณะกรรมการบริษัทเหมาะสมกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบและอยู่ในระดับเดียวกับธุรกิจในอุตสาหกรรม หรือธุรกิจที่มีขนาดใกล้เคียงกันและสูงเพียงพอที่จะดูแลและรักษากรรมการบริษัทที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ นอกจากนี้ กรรมการบริษัทที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นจะได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น
ค่าตอบแทนของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ : คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้พิจารณาอนุมัติค่าตอบแทนของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประกอบด้วย ค่าตอบแทนระยะสั้น คือ ค่าตอบแทนรายเดือนและโบนัส รวมถึงค่าตอบแทนระยะยาว ซึ่งคณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาอนุมัติแต่ละคราวไป โดยผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน ทั้งนี้ เป็นไปตามสัญญาจ้างซึ่งได้มีการกำหนดไว้ และใช้เกณฑ์ Key Performance Indicators (KPIs) ในการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี โดยใช้ข้อมูลการประเมินผลที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ซึ่งประกอบด้วย
- ส่วนที่ 1 ผลประกอบการของบริษัท
- ส่วนที่ 2 แผนกลยุทธ์ของบริษัท ครอบคลุมมุมมองด้านการเงิน ด้านลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านกระบวนการจัดการภายในและด้านการเรียนรู้และพัฒนา
- ส่วนที่ 3 พฤติกรรม การบริหารงาน การแก้ไขปัญหา และหลักเกณฑ์อื่นที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท โดยในการประเมินผลงานดังกล่าว กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ซึ่งเป็นกรรมการที่เป็นผู้บริหารและมีส่วนได้เสียไม่ได้เข้าร่วมพิจารณา โดยประธานกรรมการเป็นผู้สื่อสารผลการพิจารณาให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทราบ
ค่าตอบแทนของผู้บริหารและพนักงาน : บริษัทได้กำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหารและพนักงานซึ่งเป็นไปตามหลักการและนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด โดยเชื่อมโยงกับผลการประกอบการของบริษัทในแต่ละปี และผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารและพนักงานแต่ละท่านโดยใช้ระบบ Key Performance Indicators (KPIs)
ทั้งนี้ บริษัทมีการเปิดเผยค่าตอบแทนของคณะกรรมการบริษัทในหัวข้อ “การเข้าร่วมประชุมและการจ่ายค่าตอบแทนคณะกรรมการรายบุคคล” และเปิดเผยค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงในหัวข้อ “จำนวนค่าตอบแทนรวมของผู้บริหาร” ในส่วนของพนักงานได้รับค่าตอบแทน รวมในปี 2566 เป็นเงิน 594,375,540.92 บาท
11. การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร
- ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร The Board’s Role in Mergers and Acquisitions (BMA) รุ่นที่ 3/2023
- นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร Directors Certification Program (DCP) รุ่นที่ 339/2023 และหลักสูตร Financial Statement for Directors (FSD) รุ่น 49/2023
- นายปฏิภาณ สุคนธมาน ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร Hot Issue for Directors : Climate Governance รุ่นที่ 3/2023
- นางกรรณิการ์ งามโสภี ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร Hot Issue for Directors : Climate Governance รุ่นที่ 3/2023
- นายนพพร วงศ์สถิตย์พร ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร Director Accreditation Program (DAP) รุ่นที่ 211/2023
12. แผนสืบทอดตำแหน่งงาน (Succession Plan)
บริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการองค์กรให้มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งปัจจัยของการเจริญเติบโตที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ทรัพยากรบุคคล (Human Resource) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรบุคคลในระดับบริหาร บริษัทจึงได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดให้มีผู้สืบทอดตำแหน่งงาน (Successor) ไว้ล่วงหน้า ดังนี้
-
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่
ในการพิจารณาคัดเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งงาน สำหรับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จะมีคณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล เป็นผู้ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งจะพิจารณาจากทักษะและคุณสมบัติเฉพาะในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อธุรกิจ มีประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มีภาวะผู้นำสูง มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถในเชิงบริหารที่สอดคล้องกับค่านิยมองค์กรและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท จึงได้กำหนดทักษะที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไว้ กล่าวคือ
- ทักษะการบริหารความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร (Stakeholder Relationship Management)
- ทักษะการพัฒนาเครือข่าย (Leverage Connection)
- ทักษะการคาดการณ์ล่วงหน้าเชิงกลยุทธ์ (Strategic Foresight)
- ทักษะการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนการทำงานที่มุ่งเน้นด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในองค์กร (Encourages Initiative)
- ทักษะการตัดสินใจบนพื้นฐานคุณธรรม จริยธรรม (Values-based Decision Making) ทักษะการมอบหมายงานสำคัญ (Delegating)
- ทักษะการสื่อสารเพื่อการจูงใจ (Persuasive Communication)
- ทักษะการเจรจาต่อรอง (Negotiation)
-
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการ
เมื่อตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการและผู้อำนวยการใกล้เกษียณอายุงาน บริษัทจะสรรหาและคัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพจากบุคลากรภายในองค์กรระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไป โดยวางแผนและกำหนดขั้นตอน ดังนี้
- ประเมินศักยภาพของผู้ที่มีสิทธิ์เข้าแข่งขันรับการทดสอบ โดยนำ Competency มาใช้ในการประเมินศักยภาพ
- ทดสอบความรู้และทักษะด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ ความสามารถและความถนัดทางเชาว์ปัญญา แนวคิดในเชิงบริหาร การแสดงวิสัยทัศน์ รวมทั้งการสัมภาษณ์ โดยผู้บริหารระดับสูงเป็นคณะกรรมการคัดเลือก
- กำหนดแผนการพัฒนาผู้ที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อเตรียมความพร้อมทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
- ขณะที่ดำรงตำแหน่ง จะได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานแบบ KPI อย่างเป็นระบบเมื่อครบระยะเวลาทดลองงาน
การวางแผนสืบทอดตำแหน่งงาน (Succession Planning) เป็นกระบวนการวางแผนเพื่อเตรียมบุคลากรที่มีศักยภาพ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ให้มีความพร้อมสำหรับการดำรงตำแหน่งในระดับบริหาร เพื่อทดแทนในตำแหน่งเดิมอย่างต่อเนื่อง และรองรับตำแหน่งที่จะต้องกำหนดขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางขององค์กรและเป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างยั่งยืน